fbpx
  • Home
  • Blog
  • HOME STORY
10 สิทธิพื้นฐานกรรมสิทธิ์คอนโด ที่คนซื้อต้องรู้

10 สิทธิพื้นฐานกรรมสิทธิ์คอนโด ที่คนซื้อต้องรู้

ช่วงเวลานี้หลายคนคงอยากจะซื้อคอนโดไว้ทั้งลงทุนและอยู่เอง เพราะด้วยปัจจัยทั้งราคา โปรโมชัน รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำ เหตุนี้ทำให้ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของห้องชุดไม่ว่าจะในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบางคนอาจจะกำลังวิตกถึงสิทธิพื้นฐานและกรรมสิทธิ์คอนโด ว่าผู้ซื้อนั้นจะได้ครอบครองเหมือนบ้านหรือไหม 

แท้จริงแล้วคนซื้อคอนโดทุกคนจะได้เอกสารยืนยันความเป็นเจ้าของจาก หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด หรือ อ.ช. 2 โดยเป็นการถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับเจ้าของโครงการ ซึ่งส่วนของผู้ซื้อจะได้ทรัพย์ส่วนบุคคลหรือห้องชุดที่ซื้อ และทรัพย์ส่วนกลางคือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในโครงการคอนโด ส่วนเรื่องของที่ดินจะถูกจัดสรรให้เป็นกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ตึกถล่ม ไฟไหม้ ผู้ซื้อจะได้ส่วนแบ่งจากพื้นที่โครงการคอนโดที่ซื้อ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ซื้อคอนโดก็เป็นเจ้าของที่ดินได้ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. อาคารชุด และกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ได้กำหนดสิทธิพื้นฐานของคนซื้อคอนโดไว้ดังนี้

สิทธิที่ 1 ผู้ซื้อและผู้ขาย เป็นเจ้าของคอนโดร่วมกัน

ในกรณีที่พบว่าการบริหารงานคอนโดเกิดข้อผิดพลาด มีความบกพร่องหรือเกิดความเสียหาย เจ้าของร่วม (ผู้ซื้อและผู้ขาย) สามารถแต่งตั้งหรือถอดถอน คณะกรรมการ กรรมการ หรือผู้จัดการนิติบุคคลได้ทันที

สิทธิที่ 2 การจัดตั้งนิติบุคคล จำเป็นต้องมีผู้ซื้อและผู้ขาย เข้าร่วมการประชุม

ในการจัดตั้งนิติบุคคล ผู้ซื้อและผู้ขายมีหน้าที่ตรวจสอบกำกับดูแลมอบนโยบายการบริหารงาน และจัดตั้งนิติบุคคล โดยตามรายละเอียด พ.ร.บ. อาคารชุด กำหนดให้มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 9 คน

สิทธิที่ 3 ผู้ซื้อมีสิทธิในการตกแต่งห้องชุดได้

การตกแต่งห้องชุดในคอนโดผู้ซื้อมีสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ต้องทำการแจ้งนิติบุคคลทุกครั้ง

สิทธิที่ 4 ผู้ซื้อไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงสภาพภายนอกของคอนโด

หากผู้ซื้อทำการเปลี่ยนแปลงสภาพภายนอกคอนโด เช่น การขีดข่วนกำแพง ผนังคอนโด จะถือว่ากระทำความผิดตามข้อบังคับ ซึ่งมีโทษปรับเป็นเงินไม่น้อยกว่า 100,000 บาท

สิทธิที่ 5 กรณีมีการเปลี่ยนแปลงค่าส่วนกลาง

เจ้าของร่วม (ผู้ซื้อและผู้ขาย) สามารถลงคะแนนเสียงในที่ประชุมคณะกรรมการเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวได้ตามข้อบังคับ และกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

สิทธิที่ 6 สิทธิของผู้ซื้อในการขอดูบัญชีรายรับรายจ่าย

งบบัญชีรายรับรายจ่ายซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้จัดการนิติบุคคลคอนโด ผู้ซื้อมีสิทธิจะขอเรียกดูได้ โดยผู้จัดการนิติบุคคลคอนโดต้องมีหน้าที่ดำเนินการตามข้อบังคับและกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หากฝ่าฝืนหรือกระทำความผิดจะถูกระวางโทษปรับไม่น้อยกว่า 50,000 บาท และปรับอีกวันละ 500 บาท จนปฏิบัติถูกต้อง

สิทธิที่ 7 ผู้ซื้อมีสิทธิสมัครเป็นกรรมการนิติบุคคลได้

หากผู้ซื้อมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ข้อบังคับและกฎหมายอาคารชุดกำหนด สามารถสมัครเป็นกรรมการนิติบุคคลได้

สิทธิที่ 8 สิทธิของผู้ซื้อในการแสดงความคิดเห็น

ผู้ซื้อสามารถแสดงความคิดเห็น แนะนำแนวทางปฎิบัติงานในที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคล หรือที่ประชุมเจ้าของร่วมได้ทุกเมื่อ

สิทธิที่ 9 สิทธิของผู้ซื้อในการกำหนดกฎระเบียบในคอนโด

ผู้ซื้อสามารถกำหนดกฎระเบียบและข้อควรปฏิบัติ เกี่ยวกับการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคลและทรัพย์ส่วนกลางของคอนโดที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อผู้อยู่อาศัย เช่น การดูแลรักษาพื้นที่ส่วนกลาง หรือทรัพย์ส่วนบุคคล เพื่อไม่ให้เกิดการเสื่อมโทรม โดยต้องผ่านการเห็นชอบจากการประชุมคณะกรรมการ

สิทธิที่ 10 สิทธิของผู้ซื้อในการยกเลิกนิติบุคคล เพื่อจัดตั้งนิติบุคคลใหม่

ผู้ซื้อสามารถร่วมลงมติในที่ประชุมใหญ่เพื่อยกเลิกนิติบุคคล หากมีการกระทำผิดกฎตามที่ข้อบังคับและกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดกำหนด ด้วยวิธีคะแนนเสียง

บทความโดย : SANSIRI

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Compare